skip to main content

Pigloo ช่วยให้ลูกสุกรเติบโต

ระบบใหม่จะปกป้องลูกสุกรจากโรคและอันตรายอื่นๆ พร้อมกับเสนอวิธีผลิตเนื้อสุกรที่ทำกำไรได้ดีกว่าให้แก่ฟาร์ม

January 01, 2015

เมื่อคาร์กิลล์ซื้อบริษัท Nutrena Mills ในปี 1945 บริษัทได้ขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านอาหารสัตว์ออกไปอย่างมาก Nutrena คือผู้นำในธุรกิจโภชนาการอาหารสัตว์ และผลิตอาหารสัตว์ที่ผสมด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ซึ่งให้สารอาหารที่ดีกว่าแก่สัตว์ต่างๆ ซึ่งรวมถึงสุกรด้วย จนถึงช่วงกลางทศวรรษ 1950 คาร์กิลล์สังเกตเห็นแนวโน้มที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วฟาร์มสุกร คือ ฟาร์มเหล่านี้ต้องสูญเสียลูกสุกรเกิดใหม่จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในคอกคลอดและโรคต่างๆ ที่ติดต่อระหว่างสัตว์ด้วยกัน แนวโน้มดังกล่าวได้จุดประกายให้คาร์กิลล์พัฒนาระบบการแยกแบบใหม่จากงานวิจัยที่มีมาก่อนหน้า ซึ่งเป็นระบบที่สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยกว่าให้แก่ลูกสุกรเกิดใหม่ และส่งผลให้เป็นระบบที่ทำกำไรได้มากขึ้นสำหรับเกษตรกรฟาร์มสุกร

ระบบ Pigloo ได้เผยโฉมเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 เมษายน ปี 1958 และได้รับความสนใจจากอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว โดยกล่าวกันว่า “น่าจะปฏิวัติวิธีการเลี้ยงสุกรที่มีอยู่ในปัจจุบัน” โครงสร้างนี้ทำจากไม้และมีลักษณะการออกแบบให้มี 12 ด้านคล้ายกับโดมน้ำแข็งของชาวเอสกิโม ซึ่งช่วยให้แม่สุกรสามารถนอนหันหลังไปทางกำแพงและเต้านมหันหน้าหาโครงกั้นเหล็ก ทำให้แยกแม่สุกรเพื่อคลอดตามธรรมชาติได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากมนุษย์ จากนั้น ลูกสุกรเกิดใหม่จะถูกแยกไปทางโคมไฟให้ความร้อน เพื่อให้ความอบอุ่น และห่างจากแม่สุกรซึ่งอาจทับลูกสุกรโดยไม่ตั้งใจ เมื่อลูกสุกรต้องการนม มันจะได้รับนมจากใต้โครงกั้นเหล็กเพื่อให้แน่ใจได้ว่าลูกสุกรจะยังคงปลอดภัย และเนื่องจากในแต่ละ Pigloo จะมีเพียงครอกเดียว ลูกสุกรจึงได้รับการปกป้องการแพร่เชื้อโรคที่อาจเกิดขึ้นจากสัตว์ตัวอื่นๆ การแยกยังช่วยให้ลูกสุกรมีโอกาสสร้างภูมิต้านทาน ซึ่งช่วยปกป้องลูกสุกรจากโรคได้มากขึ้น

หลังจากการพัฒนาในช่วงแรกของ Pigloo คาร์กิลล์ได้ทำการทดสอบขั้นต้นกับสัตว์ประมาณ 5,000 ตัวตลอดระยะเวลาสามปี ผลที่ได้มีแนวโน้มว่าจะดี อัตราการตายจากการถูกทับลดลงจาก 14% เหลือน้อยกว่า 2% และการตายที่เกิดจากโรคลดลงจาก 10% จนเกือบเป็นศูนย์ นอกจากนั้นแล้ว ลูกสุกรอายุสองเดือนที่เกิดและถูกเลี้ยงใน Pigloo มีน้ำหนักมากกว่าลูกสุกรที่ถูกเลี้ยงในโรงเรือนที่นิยมใช้กันอยู่ทั่วไปหลายปอนด์ Pigloo ช่วยให้ผู้ผลิตเนื้อสุกรที่มีแม่สุกรเฉลี่ย 120 ตัวสามารถลดการลงทุนโรงเรือนครั้งแรก เพิ่มประสิทธิภาพ ลดการใช้แรงงาน เพิ่มกำไร และะผลิตเนื้อสุกรได้มากขึ้นให้แก่ลูกค้าได้

คาร์กิลล์ซึ่งยอมรับในความสำเร็จของ Pigloo หาวิธีนำแนวคิดเดียวกันนี้ไปใช้กับอุตสาหกรรมที่สำคัญอีกสาขาหนึ่ง นั่นคือ อุตสาหกรรมนมโค ในขณะนั้น ลูกวัวเกิดใหม่จำนวนหนึ่งในห้าของบริษัทกำลังจะตายจากโรคติดต่อ การใช้ระบบ Calfloo ทำให้คาร์กิลล์สามารถแยกลูกวัวแรกเกิดในช่วงสามเดือนแรกออกจากกันได้ จึงลดการสัมผัสกับปรสิตที่เป็นอันตรายได้อย่างมาก และลดการตายที่เกิดจากโรคจากค่าเฉลี่ยทั่วประเทศที่ 20% เหลือไม่ถึง 5%

ทุกวันนี้ คาร์กิลล์ยังคงเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเนื้อสุกร และตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของทั้งลูกค้าและผู้บริโภคได้ เมื่อไม่นานมานี้ มีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการจำกัดแม่สุกรให้อยู่ในที่แคบในช่วงกำลังตั้งท้อง ซึ่งเป็นแนวทางการปฏิบัติที่แตกต่างจากระบบ Pigloo ที่ใช้วิธีรอและจะไม่แยกแม่สุกรออกจนกว่าจะใกล้เวลาคลอด ในปัจจุบัน การดำเนินการส่วนใหญ่ของคาร์กิลล์มีขนาดใหญ่ขึ้นมาก และใช้เทคโนโลยีขั้นสูงแทน Pigloo และ Calfloo เพื่อเป็นการตอบสนองต่อข้อกังวลในอุตสาหกรรม บริษัทจึงปฏิญาณว่าจะทำโรงเรือนแบบกลุ่มให้แก่แม่สุกรตั้งท้องให้ได้ 100% ภายในปี 2016 และจะกำหนดให้ฟาร์มสุกรที่ทำสัญญากับบริษัทเปลี่ยนภายในปี 2018